Google SafeSearch Thailand

เคยลองค้นหาคำเหล่านี้บนกูเกิล “นักศึกษา”, “นักเรียน”, “มัธยม” แล้วเจอภาพหรือเว็บที่ไม่เหมาะสมไหมครับ ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้ต้องการจะหาข้อมูลแบบนั้น แต่มันก็ยังขึ้นมาให้เห็นอยู่เป็นประจำ คำถามคือถ้าเราเห็นอย่างนั้นและก็รู้ว่ามันไม่เหมาะถ้าเด็กตัวน้อยๆ ของชาติบ้านเมือง แล้วเราจะทำอย่างไร ?

เมื่อประมาณเดือนที่แล้วผมได้เข้าไปพูดคุยในกระทู้ ดาบสองคมระหว่าง Google Vs. Thailand ซึ่งพูดคุยกันเรื่องผลของการค้นหาเว็บและภาพที่กูเกิลชอบหลุดออกมาให้เห็นประจำเมื่อเวลาค้นหาเป็นภาษาไทย เวลานั้นก็สงสัยในใจว่าทำไมไม่ใช้ตัวกรอง SafeSearch กันเพื่อจะได้ไม่มีภาพแบบนั้นออกมา แล้วผมก็เริ่มค้นพบว่า SafeSearch นั้นไม่มีในกูเกิลภาษาไทย !!

จากนั้นมาผมจึงติดต่อเข้าไปที่กูเกิลเพื่อเรียกร้องให้กูเกิลรองรับฟีเจอร์ SafeSearch ภาษาไทย และหลังจากใช้เวลาตามตื้ออยู่ 5 สัปดาห์ ตอนนี้เราสามารถใช้ SafeSearch เป็นภาษาไทยและเริ่มแจ้งรูปภาพหรือเว็บที่ไม่เหมาะสมเข้าไปที่กูเกิลได้ในที่สุด

SafeSearch คืออะไร

กูเกิลใช้ระบบที่มีความสลับซับซ้อนในการค้นหาข้อมูลและแสดงผล ซึ่งทั้งหมดทำโดยคอมพิวเตอร์ และต้องยอมรับว่าคอมพิวเตอร์เองก็ไม่ได้ฉลาดนักที่จะกรองข้อมูลที่ไม่เหมาะสมมาให้เรา กูเกิลจึงทำฟีเจอร์ SafeSearch ขึ้นมาเพื่อกรองข้อมูลเหล่านั้น และเปิดให้ผู้ใช้ร้องเรียนผลการค้นหาเข้ามาได้ โดยจะมีการเก็บฐานข้อมูลของเว็บและรูปภาพเหล่านั้นไว้อีกที่หนึ่ง เมื่อเรากดค้นหา ข้อมูลที่ออกมาก็จะถูกกรองก่อนที่จะแสดงผล (Filtering)

โดยมาตรฐานแล้ว SafeSearch จะถูกเปิดใช้อยู่ตลอดเวลา เช่นถ้าคุณเข้าไปเล่นที่ร้านอินเตอร์เน็ต หรือไม่ได้เข้ากูเกิล account ไว้

SafeSearch ไม่มีใน Google.co.th ?

โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยได้ใช้ Google.co.th และเมนูภาษาไทยมากนัก แต่หลังจากที่พูดคุยกันในกระทู้ผมก็เพิ่งจะค้นพบว่า ถ้าคุณเข้าไปกูเกิลที่เป็นเมนูภาษาไทย จะไม่มีฟีเจอร์ SafeSearch ให้เลือกใช้ ทั้งที่ภาษาอื่นอย่างเช่น ภาษาจีนหรือญี่ปุ่นจะมีให้เลือกอยู่ตลอดเวลา

ผลเสียก็คือเราจะไม่สามารถปรับแก้ค่าการกรองเนื้อหาใน Google.co.th ได้ ทำให้บางครั้งเว็บที่ควรจะถูกกรองออกอยู่แล้วจากฐานข้อมูลเว็บไม่เหมาะสมของกูเกิล กลับถูกแสดงผลอยู่ตลอดเวลาที่เราใช้งาน Google.co.th อีกเรื่องหนึ่งคือการร้องเรียนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจะทำได้ยากกับ keyword ที่เป็นภาษาไทย เพราะเราจะไม่ทราบได้เลยว่าตอนนี้เราใช้ระดับการกรองระดับไหนอยู่

ผมจึงร้องเรียนไปที่กูเกิลโดยตั้งกระทู้ No or Missing SafeSearch feature on Google.co.th ไว้ที่ Help forum ของกูเกิลเองเพราะคิดว่าร้องเรียนใน pantip คงไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาอ่าน

พนักงานของกูเกิลก็เข้ามาชี้แจงว่า

>Currently, there is no SafeSearch filtering for the Thai Google domain. I greatly appreciate your interest in combating unexpected results but, as explained in the help article referenced below, SafeSearch filtering is only offered for a limited number of languages. I apologize for this inconvenience and will mention this to the team. Thanks for coming in here to inquire about SafeSearch.

หลังจากตามตื้ออยู่ประมาณ 1 เดือนทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าตอนนี้ได้เพิ่มฟีเจอร์ SafeSearch กับภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว


มีเป็นภาษาไทยแล้วดียังไง

  • โดยมาตรฐาน SafeSearch จะถูกเปิดใช้ในระดับกลางสำหรับทุกคนที่เข้า Google.co.th
  • สามารถเลือกเปิด SafeSearch ในระดับสูงสุดได้ จากเดิมที่ไม่เคยมีในภาษาไทย
  • เราสามารถแจ้งคำที่ใช้ค้นหา (keyword) แล้วเจอภาพที่ไม่เหมาะสมได้เป็นภาษาไทย

ร่วมด้วยช่วยกันแจ้งเว็บและภาพที่ไม่เหมาะสม

จริงๆ แล้วกูเกิลเปิดช่องทางให้เราสามารถแจ้งภาพหรือเว็บที่ไม่เหมาะสมเข้าไปได้หลายช่องทาง แต่ที่สะดวกที่สุดและผมใช้อยู่ประจำคือที่ webpage removal request tool ซึ่งเราจะคอยติดตามได้ตลอดว่าทางกูเกิลได้ลบภาพหรือเว็บนั้นๆ ออกจากผลการค้นหาแล้วหรือยัง โดยปกติที่เคยแจ้งเข้าไปจะใช้เวลาประมาณ 2-4 อาทิตย์ในการตอบกลับ

SafeSearch ภาษาไทยเปิดใช้ได้ไม่นาน ตอนนี้ผลการค้นหาก็ยังคงไม่ต่างจากที่เคย ต้องช่วยกันแจ้งเข้าไป มากกว่าที่จะบ่นลอยๆ แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น (อยากได้ต้องลงมือ) ผมพบว่าถ้าได้ลองแจ้งเข้าไปซักครั้ง จะรู้ว่าเป็นเรื่องที่สนุกกว่่าที่คิดไว้เยอะ เราจะได้ลองค้นหาคำแปลกๆ และก็ได้ความรู้สึกมีส่วนร่วมว่าเว็บนี้หรือรูปนี้เราเคยบอกกูเกิลให้เอาออกไปนะ

ว่าแล้วจะไม่ลองดูหน่อยเหรอครับ 🙂


ที่มา – Khajochi’s Blog