นักวิจัยค้นพบหลักการวิธีเล่น “เป่ายิ้งฉุบ” ยังไง ให้มีโอกาสชนะมากที่สุด

ไปอ่านเจอบทความที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีสาระมาก แต่กลับสนุกและน่าสนใจกว่าที่คิด คือมีนักวิจัยชาวจีน 3 คนได้ทำการทดสอบเล่น “เป่ายิ้งฉุบ” กับเด็ก 360 คน โดยเด็กๆ ถูกแบ่งออกเป็น 60 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน

จากนั้นให้ทำการแข่งเป่ายิ้งฉุบกัน จำนวน 300 รอบ ปรากฏว่าผลจากงานวิจัยทำให้เราได้เห็นวิธีการเล่นเป่ายิ้งฉุบที่อาจจะไม่ใช่การสุ่มแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีหลักจิตรวิทยาหลายอย่าง ดังนี้

  • กติกาการเล่นเป่ายิ้งฉุบ คือแต่ละคนจะออก ค้อน, กรรไกร, กระดาษ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีโอกาสชนะ 1/3, โอกาสแพ้ 1/3 และโอกาสเสมอ 1/3
  • ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราเล่นด้วยการสุ่ม 100% โอกาสก็จะเป็น 1 ใน 3 โดยตลอด เช่นการเล่นกับหุ่นยนต์ที่ตั้งเครื่องแบบสุ่มเอาไว้
  • แต่เนื่องจากคนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ การเล่นเป่ายิ้งฉุบของคนเลยมีเรื่องของการคิดวางแผนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ซึ่งโดยสรุปแล้วสูตรการเป่ายิ้งฉุบให้มีโอกาสชนะมากสุดคือ
  1. ถ้าตานี้เราแพ้ : ตาหน้าให้ออกอะไรก็ได้ที่ไม่มีในตานี้ เช่น เราออกค้อน เพื่อนออกกระดาษ ตาหน้าให้เราออกกรรไกร
  2. ถ้าตานี้เราชนะ : ตาหน้าให้ออกเลียนแบบเพื่อน เช่น เราออกกรรไกร เพื่อนออกกระดาษ ตาหน้าให้เราออกกระดาษ

ทฤษฏีการเป่ายิ้งฉุบ

ถ้าใครสงสัยว่าเพราะอะไร ถึงต้องวางแผนเล่นเป่ายิ้งฉุบตามแบบข้างบน ข้างล่างนี้ก็มีทฤษฏีอธิบายเหตุผล (ถ้าใครแค่อยากรู้วิธีเล่นให้ชนะ ก็กดข้ามไปได้เลย)
จากตัวอย่างที่ทดสอบมาหลายครั้ง สิ่งที่นักวิจัยค้นพบจากผลของการเล่นเป่ายิ้งฉุบหมู่จำนวนมาก คือ 2 หลักการที่คนเรามักพยายามจะใช้ในการเล่นให้ชนะเกมเป่ายิ้งฉุบ ดังนี้
1. ถ้าเราเป่ายิ้งฉุบ “ชนะ” ในรอบนี้ มีโอกาสสูงที่เราจะ “เล่นแบบเดิม” ในรอบต่อไป (Winners Repeat) เช่น  A ใช้ค้อนชนะกรรไกรของ B ในตาต่อไป A มีโอกาสสูงที่จะใช้ ค้อนอีกรอบนึง เพราะคิดว่า ในเมื่อมันชนะ อีกรอบก็น่าจะชนะ
2. ถ้าเราเป่ายิ้งฉุบ “แพ้” ในรอบนี้ มีโอกาสสูงที่เราจะ “เปลี่ยนไปเล่นแบบใหม่” ในรอบต่อไป (Losers Change) เช่น A ใช้ค้อนแพ้กระดาษของ B ในตาต่อไป A มีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนจากค้อน ไปใช้อย่างอื่นแทน
สรุปง่ายๆ คือถ้าเราชนะ เราชอบใช้แบบเดิม เพราะกะว่าเดี๋ยวก็ชนะอีก (หรืออย่างผมคือขี้เกียจคิดใหม่ ใช้อันเดิมนี่แหล่ะ) แต่ถ้าเราแพ้ เราจะกลัวแพ้อีก เลยขอเปลี่ยนไปใช้อีกแบบนึง
คำถามคือ ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว เราจะเล่นเป่ายิ้งฉุบยังไงให้มีโอกาสชนะ ? ก็มีวิธีดังนี้
A. ถ้าตานี้เรา “แพ้” ตาต่อไปให้เลือกเล่น อะไรก็ได้ที่ไม่ได้ออกในตานี้ 
  • เพื่อนออกค้อน เราออกกรรไกร เราแพ้ – ตาหน้าให้เราออก “กระดาษ”
  • เพราะมีโอกาสมากที่เพื่อนจะออก “ค้อน” ซ้ำอีกครั้งนึง
B.  ถ้าตานี้เรา “ชนะ” ตาต่อไปให้เลือกเล่น เลียนแบบคู่แข่งในตานี้
  • เพื่อนออกค้อน เราออกกระดาษ เราชนะ – ตาหน้าให้เราออก “ค้อน”
  • เพราะเมื่อเพื่อนแพ้ มีโอกาสที่เพื่อนจะไม่ออกแบบเดิม เลยเปลี่ยนไปออก “กรรไกร” หรือ “กระดาษ” แต่โอกาสที่เพื่อนจะออก “กรรไกร” มากกว่า (เพราะอะไร ให้เปิดคลิปดู) เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะชนะ ให้ออก “ค้อน”

:: สรุป ::

ซึ่งโดยสรุปแล้วสูตรการเป่ายิ้งฉุบให้มีโอกาสชนะมากสุดคือ
  1. ถ้าตานี้เราแพ้ : ตาหน้าให้ออกอะไรก็ได้ที่ไม่มีในตานี้ เช่น เราออกค้อน เพื่อนออกกระดาษ ตาหน้าให้เราออกกรรไกร
  2. ถ้าตานี้เราชนะ : ตาหน้าให้ออกเลียนแบบเพื่อน เช่น เราออกกรรไกร เพื่อนออกกระดาษ ตาหน้าให้เราออกกระดาษ

ส่วนตัวได้ลองทดสอบกับหลายคน ก็พบว่ามันใช้ได้จริง โอกาสชนะมากถึง 60% แต่ถ้าเพื่อนเรามาอ่านทฤษฏีนี้ ความยากจะทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะต่างฝ่ายก็จะคิดซับซ้อนทับกันไปหลายชั้น

จนในที่สุดแล้ว … เราก็จะกลับไปเป่ายิ้งฉุบแบบเดิม คือออกอะไร ก็ออกไปเถอะ (ฟะ)

ที่มา – BGRPopular Mechanics