Steve Jobs กับการทำบริษัทใหญ่ให้เป็นเหมือน Startup

ขึ้นชื่อว่าแอปเปิล บริษัทที่มีมูลค่าสูงอันดับต้นๆ ของโลก และมีพนักงานมากกว่า 115,000 คน การที่จะบริหารงานในองค์กรใหญ่ระดับนี้มักจะเชื่องช้าและวุ่นวาย คำถามคือแล้ว Steve Jobs แก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ?

ในงาน D8 เมื่อปี 2010 เมื่อถูกถามว่าจ็อบส์มีบทบาทในสินค้าแต่ละตัวอย่างไรบ้าง จ็อบส์กลับถามพิธีกรกลับว่า

“คุณรู้ไหมว่าที่แอปเปิล เรามีคณะกรรมการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง กี่กลุ่ม ? … คำตอบคือ ศูนย์ … เราไม่เคยมีคณะกรรมการอะไรเลย”

จ็อบส์เล่าว่าเขาวางโครงสร้างของบริษัทให้เหมือนกับ “Startup” เขาวางให้มี 1 คนเท่านั้นดูแลฮาร์ดแวร์ของ iPhone อีกคนดูแลเรื่องซอฟต์แวร์ของ iOS อีกคนดูแลเรื่องการตลาด อีกคนดูแลเรื่องแมค

คนที่ดูแลในแต่ละส่วนจะมีหน้าที่ตัดสินใจได้ทั้งหมด ไม่ต้องมีกรรมการคอยตรวจสอบ ไม่ต้องมีกรรมการช่วยในการตัดสินใจ ทุกคนสามารถตัดสินใจได้ทันทีในงานของเขา

คำว่า ทีมเวิร์ค หมายถึงการเชื่อใจกันและกัน – Steve Jobs

“เรามีการนัดประชุมกันสัปดาห์ละครั้งในระดับผู้บริหาร เพื่อดูว่าธุรกิจเป็นอย่างไร และทุกคนทำงานด้วยทีมเวิร์คอย่างที่สุด”

จ็อบส์เล่าว่า “คำว่า ทีมเวิร์ค หมายถึงการเชื่อใจกันและกัน เชื่อใจว่าแต่ละคนจะรับผิดชอบงานของตัวเองและทำได้อย่างดีที่สุด ไม่ใช่การมาคอยตรวจสอบหรือดูมีคนมาคอยดูแต่ละฝ่ายทำงานตลอดเวลา”

เมื่อถูกถามถึงกรณีถ้ามีการถกเถียงเรื่องราวต่างๆ ในแอปเปิล จ็อบส์มักเป็นฝ่ายถูกตลอดเลยหรือเปล่า ?

“โอ้ ไม่แน่นอน ถึงผมจะหวังว่าอย่างนั้นก็เถอะนะ (ฮา) “

จ็อบส์เผยว่า เราต้องเข้าใจว่าการที่เราจะจ้างคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน และอยากให้เขาอยู่กับเรานานๆ ทุกการตัดสินใจจะต้องมาจากไอเดีย ความคิดที่ดี ไอเดียที่ถูกต้องต่างหากที่ชนะ ไม่ใช่ตำแหน่งในบริษัทว่าใครอยู่สูงกว่าใคร

เป็นข้อคิดที่ดีมากสำหรับหลายบริษัท หรือหลายองค์กร ลองปรับไปใช้กันดูได้ครับ 🙂

ภาพจาก – All Things Digital