วิธีรับมือกับนักขายของทางโทรศัพท์

อ่านเจอใน Post Today แล้วรู้สึกน่าสนใจ เลยขอบล็อกไว้กันลืม

เชื่อกันว่าหลายคนเคยประสบกับพนักงานขายของทางโทรศัพท์กันมาบ้าง โดยเฉพาะคนที่ทำประกันชีวิต, ทำบัตรเครดิต หรือกู้หนี้ยืมสินกับที่ไหนซักแห่งไว้ ซึ่งข้อมูลส่วนตัวของเราจะกลายเป็นของซื้อขายในตลาดทันที ด้วยราคา 3 – 5 บาท ..​อันนี้ยืนยันได้เพราะเคยไป Out Source กับบริษัทสินเชื่อมา เห็นชัดๆ เลยว่าชื่อกับเบอร์โทรของเราอยู่ในรายการขาย (เวรเอ๊ย)

แทนที่จะนั่งบ่น พออ่านบทความของ Post Today แล้วรู้สึกว่าเข้าท่าน่าสนใจ

ในอเมริกา มีกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภทที่พูดถึงการขายสินค้าทางโทรศัพท์โดยตรง (Telephone Consumer Protection Act of 1991) ที่กำหนดไว้ว่าผู้บริโภคมีิทธิที่จะป้องกันตัวจากความเดือนร้อนรำคาญโดยนักขายสินค้าทางโทรศัพท์

ที่เจ๋งมากคือในกฏหมายฉบับนี้ กำหนดให้ออกรายชื่อเบอร์ที่ห้ามโทร (Do-Not-Call List) โดยเราสามารถติดต่อทำเรื่องขอให้เบอร์โทรของเราไปอยู่ในรายชื่อนั้นกับทางรัฐบาลได้ (มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลรายการเบอร์พวกนี้โดยเฉพาะ) และบริษัทใดๆ ที่จะทำการขายสินค้า หรือบริการทางโทรศัพท์จะถูกห้ามโทรไปขายที่เบอร์พวกนี้ทั้งหมด ถ้าบริษัทไหนฝ่าฝืนก็มีโทษทางกฏหมายทันที

รายชื่อเบอร์ห้ามโทรเหล่านี้มีความคุ้มครอง 10 ปี หมดอายุก็ไปต่อใหม่ได้

ส่วนในเมืองไทยเราก็มีกฏหมายคุ้มครองประเภทนี้เหมือนกันเพียงแต่ยังจำกัดแค่การขายประกันภัยเท่านั้น โดยกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่พึ่งออกมาเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2552 นี่เอง โดยกฏหมายกำหนดไว้ว่า
บริษัทประกันภัยจะโทรขายสินค้าและบริการกับลูกค้าได้เฉพาะ จ. – ส. เวลา 8.00 – 19.00 น. เท่านั้น
ถ้าลูกค้าบอกว่า “ไม่สนใจ” หรือ “อย่าโทรมาอีก” บริษัทจะต้องจบการสนทนาทันที (ห้ามตื้อ) และห้ามบริษัทโทรไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
แปลว่าถ้าบอกว่า “ไม่ว่าง”, “ติดประชุม” หรือแกล้งกดวางสาย จะไม่เข้าข่าย และเขาจะโทรมาอีกครั้ง
ถ้าบริษัทถูกถามว่าได้ข้อมูลเบอร์โทรของเรามาได้ยังไง จะต้องบอกที่มาขอแหล่งข้อมูลกับลูกค้าก่อนวางสายด้วย

ดูไปก็เป็นกฏหมายที่ดูดีมากมาย แต่ก็ยังคุ้มครองแค่กับบริษัทประกันภัยเท่านั้น ส่วนบัตรเครดิต, ธนาคาร, สมาชิกโรงแรม หรือฟิตเนสนั้น กฏหมายนี้ยังไม่ครอบคลุมถึง (เฮ้อ)

เอาน่า อย่างน้อยก็ได้ความรู้ใหม่ .. ว่าจงท่องไว้

“ไม่สนใจครับ” .. “ไม่สนใจครับ” .. “ไม่สนใจครับ”