รีวิว OS X Lion – Developer Preview

แอปเปิลเริ่มปล่อย OS X 10.7 Developer Preview หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lion ให้กับนักพัฒนาโปรแกรมแล้ว โดยเพิ่มความสามารถใหม่ๆ หลายอย่างเพิ่มเติมจากที่เคยได้สาธิตให้ดูในงานแถลงข่าวเมื่อปีก่อน เช่น Versions, Auto Save, AirDrop และการปรับการใช้งานในหลายโปรแกรม เราลองมาดูกันว่าเวอร์ชันใหม่ของ OS X นี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

:: ทำทุกอย่างได้เหมือนเดิม ในแนวทางที่ต่างออกไป ::

ถ้าเปรียบเทียบ OS X ในแต่ละรุ่นแล้ว Leopard เต็มไปด้วยฟีเจอร์ใหม่ๆ ในขณะที่ Snow Leopard เป็นการปรับแก้โค้ดให้ทำงานเร็วขึ้น เสถียรขึ้น และปรับโครงสร้างให้พร้อมกับการทำงานในอนาคต อย่างระบบ 64 bit

ประเด็นสำคัญสำหรับ OS X Lion คือ “เปลี่ยนแปลงการใช้งานระบบ” โดยปรับระบบปฏิบัติการให้เข้าใกล้กับ iOS ที่ใช้อยู่ใน iPhone และ iPad มากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมกับระบบปฏิบัติการยุคใหม่ และเป็นมิตรกับผู้ใช้

  • การทำงานแบบเต็มหน้าจอ (Full Screen) บน iPad ก็ทำให้เราได้เห็นผู้ใหญ่ที่ไม่กล้าแม้แต่จะแตะต้องเมาส์ คีย์บอร์ด สามารถใช้งานได้ดี 
  • ระบบ Multi-Touch ซูมเข้าออก เลื่อนหน้าจอขึ้นลงกลายเป็นมาตรฐานที่ผู้ใช้เข้าใจได้เองโดยที่ไม่ต้องมีการสอน
  • ระบบ App Store ที่ลดช่องว่างการจัดจำหน่าย ลดช่องทางการกระจายซอฟท์แวร์ และง่ายต่อการอัพเดตโปรแกรม กลายเป็นโมเดลที่ใช้ใน Smartphone ทุกที่ รวมไปถึงระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง Chrome OS

เพียงแต่ในการทำงานรูปแบบใหม่นั้น เราก็ยังสามารถใช้งานในรูปแบบเดิมๆ ที่เราใช้กันอยู่ได้ เรายังทำงานโดยใช้แค่เมาส์กับคีย์บอร์ด, ลงโปรแกรมจาก DVD, ใช้ Photoshop แบบหลายหน้าต่างได้เหมือนเดิม เพียงแต่ Lion พยายามเสนอการใช้งานใหม่ๆ เข้ามาเท่านั้น

:: ติดตั้ง ::

OS X Lion – Developer Preview ใช้งานได้กับเครื่องแมค Intel Base ใช้เวลาติดตั้งประมาณ 40 นาที หลังจากที่ติดตั้งเรียบร้อยแล้วก็จะพบหน้า Welcome แบบเดียวกับ Snow Leopard

ขั้นตอนการ Setup เครื่องต่างจากเดิมเล็กน้อย มีหน้าจอให้เลือก Disk Encryption เพิ่มเข้ามา สำหรับใครที่ต้องการเข้ารหัสข้อมูลในฮาร์ดดิสก์

ติดตั้งเสร็จทุกอย่างก็ไม่ต่างจากเดิมมาก เปลี่ยนรูปฉากหลังจากเสือหิมะมาเป็นภูเขาไฟฟูจิ ส่วนไอคอนโปรแกรมมีเพิ่ม App Store, Launch Pad, FaceTime เข้ามา และ iChat หายไป แต่ยังเรียกใช้งานได้อยู่

เฉพาะตัวระบบปฏิบัติการกินเนื้อที่ไป 15GB เปิดเครื่องขึ้นมายังไม่ได้ทำอะไร กินแรมไปแล้ว 1.27 GB !! ไม่แน่ใจว่าตอนตัวจริงออกมาจะกินแรมน้อยลงรึเปล่า แต่เป็นไปได้ว่าขนาดแรมที่แนะนำสำหรับ Lion คือ 4GB เป็นอย่างน้อย ?

:: ค่าเริ่มต้นที่ต่างออกไป ::

สิ่งที่น่าสนใจคือแอปเปิลเปลี่ยนแปลงค่าเริ่มต้น (Default Setting) หลายอย่างไปจากเดิม ถึงแม้ว่าเราจะสามารถเข้าไปแก้ค่า setting เหล่านี้เองได้ แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้ว นี่คือสิ่งที่แอปเปิลอยากให้เป็น

  • ไม่มี Scroll Bar

สิ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งระหว่าง OS X กับ iOS คือการไม่มี Scroll Bar ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้งหรือแนวนอน ข้อดีของการไม่มี Scroll Bar คือจะได้หน้า UI ที่เรียบง่ายดูสะอาดตามากขึ้น แต่ข้อเสียก็คือการลด Visibility ของการดูข้อมูลลง คือเราอาจจะไม่รู้ว่าสามารถเลื่อนจอขึ้นลง ซ้ายขวาได้

ใน Lion เราจะไม่เห็น Scroll Bar ในทุกโปรแกรม วิธีเลื่อนหน้าจอที่ดีที่สุดคือใช้ 2 นิ้ว Scroll ขึ้นลงซ้ายขวาบน Trackpad หรือ Magic Mouse ถึงแม้ว่าคนที่ใช้แมคส่วนใหญ่จะทราบวิธีนี้ และถ้าไม่ชอบเราก็เปลี่ยนค่า Setting ให้มี Scroll Bar โผล่ขึ้นมาได้ แต่การตั้งค่าเริ่มต้นเป็นแบบนี้ก็เสี่ยงต่อการทำให้ผู้ใช้สับสนอยู่เหมือนกัน

  • ไม่แสดงผลว่าโปรแกรมไหนเปิดอยู่

ใน OS X รุ่นก่อนๆ เวลาที่เราเปิดโปรแกรมขึ้นมา จะมีจุดสีขาวข้างใต้ไอคอนของโปรแกรม สำหรับ Lion จุดสีขาวนั้นจะหายไป

ในมุมมองผู้ใช้ทั่วไป ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าโปรแกรมไหนทำงานอยู่บ้าง และให้ความสนใจเพียงหน้าต่างของโปรแกรมที่ทำงานอยู่เท่านั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการทำงานบน iPhone และ iPad

เข้าใจว่าถ้า Lion พยายามจะลอกระบบใน iOS มาจริง โปรแกรมที่ถูกเปิดและไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน อาจจะถูกปิดโดยอัตโนมัติเมื่อแรมไม่พอ แต่หลักการนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อทุกโปรแกรมทำระบบ Auto Save แล้ว

  • โหลด Widget ทุกตัวใน Dashboard ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาแล้ว Widget ทุกตัวจะถูกโหลดขึ้นมาทันที ข้อดีคือทำให้เมื่อเราเข้าไปหน้า Dashboard ก็จะสามารถใช้งาน Widget ได้ทันทีไม่ต้องรอ ข้อเสียก็แน่นอนว่าเ้ปลืองแรม สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ Dashboard บ่อยๆ

  • Resume
เวลาที่ Shutdown หรือ Restart เครื่อง จะมีให้เลือกว่าจะให้จำโปรแกรมและหน้าต่างที่เปิดไว้ทั้งหมดรึเปล่า พอเปิดเครื่องกลับมาอีกครั้งทุกอย่างจะถูกเปิดให้เหมือนเดิมก่อนที่เราจะปิดเครื่อง พูดภาษาวินโดวส์มันคือ Hibernate นั่นเอง
ผมลองทดสอบเปิดค้างไว้ 7 โปรแกรม 13 หน้าต่าง พอปิด-เปิดเครื่องขึ้นมา ก็พบว่าใช้งานได้ดี โปรแกรมทุกตัวถูกเปิดขึ้นมาหลังจาก Login เข้าเครื่อง ตำแหน่งและขนาดของหน้าต่างก็ยังเท่าเดิม อยู่ตำแหน่งเดิมก่อนจะปิดเครื่อง
Resume ทำงานได้เร็วกว่า Hibernate บนวินโดวส์อยู่พอสมควร แต่ก็มีบั๊กเยอะเหมือนกัน ที่น่าสนใจคือ Lion ให้เราเลือกปิดเครื่องแบบ Resume เป็นค่า Default ซึ่งถ้ามันทำงานได้ไม่ดีก็น่าสยดสยองมาก (ลองนึกภาพเวลา Shutdown วินโดวส์ทุกครั้งเป็นแบบ Hibernate สิครับ)

:: Auto Save ::

น่าจะเป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจที่สุดใน Lion และเหนื่อยที่สุดสำหรับนักพัฒนาโปรแกรม โดยระบบ Auto Save ของแอปเปิลไม่ใช่การกดปุ่มเซฟให้เราอัตโนมัติ แต่เป็นการจัดเก็บเฉพาะส่วนที่ถูกแก้ไขในโปรแกรมเป็นระยะๆ ทำให้ไม่เปลืองเนื้อที่ฮาร์ดดิสก์ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือการที่เราสามารถกด Undo และ Redo ได้ไม่รู้จบนั่นเอง

หลังจากที่โปรแกรมเซฟความเปลี่ยนแปลงอัตโนมัติแล้ว ก็มีระบบที่เรียกว่า Versions ให้เราย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงในเอกสารได้อย่างอิสระ หน้าจอคล้ายกับ Time Machine

ถ้าว่ากันตามคอนเซ็ปต์แล้ว นี่ถือว่าเป็นสวรรค์ของผู้ใช้เลยทีเดียว ลองนึกภาพว่าเราสามารถย้อนกลับไปดูการแก้ไขต่างๆ ในการแต่งรูปภาพ ทำพรีเซ็นเทชั่น หรือตัดต่อวิดีโอได้ตลอดเวลา แต่งานหนักก็ตกไปอยู่กับนักพัฒนาโปรแกรมที่ต้องคิดเผื่อเรื่องนี้ด้วย

:: Internet Accounts ::

เป็นฟีเจอร์ที่เอามาจาก iOS อย่างชัดเจน คือใส่ User Account เพียงจุดเดียว แล้วนำค่าไปใช้ในโปรแกรมอื่นๆ เช่น Mail, iCal, iChat เท่าที่ลองใช้กับ Gmail ก็ดูทุกอย่างราบรื่นดี อ่านเมล์ได้ ดูตารางประชุม หรือคุย Google Talk ผ่าน iChat ได้เลย

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือถ้าเรา Login Gmail ผ่าน Safari จะมีหน้าต่างขึ้นมาถามว่าจะให้ติดตั้ง Account นี้ลงใน Internet Account หรือเปล่า เป็นความใส่ใจในจุดเล็กๆ แต่ก็มีประโยชน์ดี

:: Mail 5 ::

หน้าตาเหมือน Mail บน iPad เรียบง่ายขึ้น, สะอาดตาขึ้น, ทำงานแบบเต็มหน้าจอได้, ย้าย Folder ต่างๆ มาอยู่ข้างบน, ลดจำนวนปุ่มลงเหลือไม่กี่ปุ่ม, ปรับปรุงหน้าตา Conversation ใหม่ (อธิบายยาก ลองดูรูปจะเข้าใจง่ายกว่า)

อีกส่วนที่ปรับปรุงอย่างชัดเจนคือปุ่มค้นหาทางขวาบนที่ทำงานเร็วขึ้นมาก

:: ส่วนอื่นๆ ที่น่าสนใจ ::

  • เมื่อค้นหาข้อมูลใน Spotlight นอกจากจะแสดงผลการค้นหาแล้ว ยังแสดงพรีวิวข้อมูลให้ดูก่อนด้วย

  • ไม่มี Flash มาให้ ต้องติดตั้งเพิ่มทีหลัง

  • ใน Safari เวลาใช้ 3 นิ้ว Scroll เลื่อนซ้ายขวา จะแสดงหน้าจอของเว็บก่อนหน้าให้ดูด้วย ยังไม่เห็นประโยชน์มากนัก แต่ก็น่ารักดี

  • QuickTime ตัดต่อวิดีโอและ Export ไปลง Facebook ได้

  • เวลา Export วิดีโอใน QuickTime มีให้เลือก “Mac and PC” จากที่ลองดูแล้วก็ได้ไฟล์ .mov เหมือนกับการ Export แบบอื่นๆ เลยไม่ค่อยเข้าใจความต่างเท่าไหร่

  • Launchpad มันคือหน้าจอแปลงร่าง Mac เป็น iPad น่ะเอง เวลาที่ลงโปรแกรมจาก App Store ก็จะมีภาพไอคอนวิ่งมาโผล่บน Launch Pad แบบใน iPad ด้วย

:: สรุป ::

  • เรายังทำทุกอย่างบน Lion ได้เหมือนเดิม เพียงแต่รูปแบบการใช้งานเปลี่ยนไป
  • ถ้าไม่ชอบ สามารถปรับมาเป็นแบบที่คุ้นเคยได้
  • รวมเอาข้อดีต่างๆ บน iOS กลับมาสู่ OS X บางอย่างได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดี (App Store, Internet Account)
  • แต่บางอย่างก็ยังเป็นคำถามอยู่ว่ามันเหมาะกับอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ทัชสกรีนแบบนี้หรือเปล่า (Full Screen Mode, Auto Save, ไม่มี Scroll Bar)
  • กินแรมเยอะขึ้น บั๊กเยอะมาก แต่ก็เป็นเพียง Developer Preview เวอร์ชันแรก
  • ฟีเจอร์ใหม่มีไม่มาก ต้องรอดูว่าแอปเปิลกั๊กอะไรไว้แค่ไหนในเวอร์ชันจริง

เมื่อ 4 ปีที่แล้วในงาน D5 บิล เกตส์และสตีฟ จ็อบส์ไปให้สัมภาษณ์บนเวทีเดียวกัน ครั้งนั้นวอล์ต มอสเบิร์กถามความเห็นของทั้งสองคนเกี่ยวกับ User Interface ที่ควรจะเป็นในยุคหลังจากนี้อีก 5-6 ปี บิล เกตส์ให้ความเห็นว่ามันควรจะเป็น UI ในแบบ 3 มิติ ใช้การป้อนข้อมูลแบบเสียงหรือการสัมผัสบนอากาศ (มันคือ Kinect)

จ็อบส์ให้ความเห็นที่ต่างออกไป คือจ็อบส์ไม่คิดว่าสิ่งที่เราได้ใช้บนพีซีมาตลอดจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร  โดยเปรียบเทียบว่าเรายังต้องการขับรถที่มี 4 ล้อ ไม่ใช่ 6 ล้อ เรายังต้องการหมุนพวงมาลัยกลมๆ ไม่ใช่ขับรถด้วยจอยสติ๊กส์ ที่สำคัญกว่าคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุค post-PC devices (จ๊อบส์ใช้คำนี้ครั้งแรกเมื่อ 4 ปีก่อน) ว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจากมัน แล้วนำมันกลับมาใช้ในพีซีได้มากน้อยแค่ไหน (มันคือ iPhone -> iPad -> OS X Lion)

แน่นอนว่าเรายังสามารถลงโปรแกรมบนแมคโดยซื้อแผ่น DVD มาจากร้านค้าได้ เรายังใช้เมาส์เลื่อน Scroll Bar ขึ้นลงได้เหมือนเดิม แต่ถ้าการมาของ App Store ทำให้วันนึง 80% ของผู้ใช้ ลงโปรแกรมผ่าน App Store กันหมด การมาของ Multi-Touch Trackpad กับ Magic Mouse ทำให้ไม่มีใครไปเลื่อน Scroll Bar กันแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งเดิมๆ ที่เคยมีมา อาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ตอนนี้อุปกรณ์แทบทุกชิ้นของแอปเปิลก็ทำงานบน iOS หมดแล้ว ทั้ง iPhone, iPad, iPod Touch, iPod Nano หรือแม้แต่ Apple TV หลายคนอาจจะมองว่าแอปเปิลมองข้ามแมคไป แต่ดูจากความสามารถที่มีใน Lion ก็จะรู้สึกได้เลยว่า OS X และ iOS ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้นทีละนิดๆ จนไม่แน่ว่าอนาคตอาจจะกลายเป็นระบบปฏิบัติการเดียวกันไปเลยก็ได้ .. ใครจะรู้