แชร์ประสบการณ์คุยกับครูที่สิงคโปร์ เทียบระบบการศึกษาระดับโลกกับเมืองไทย

ทริปล่าสุดที่ไปสิงคโปร์รอบนี้ ผมสนใจเรื่องการศึกษามากเป็นพิเศษ เนื่องจากเพิ่งมีลูกน้อย และเราก็ได้ยินมาเสมอๆ ว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์ดีเลิศประเสริฐศรี ติดอันดับท็อปของโลกมานานแล้ว

โชคดีที่มีโอกาสได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่ในแวดวงการศึกษาของสิงคโปร์มานาน รวมถึงได้คุยกับพ่อแม่ที่ส่งลูกเข้าเรียน คิดว่าการได้รู้จักกับระบบการศึกษาของที่นี่ก็น่าสนใจไม่น้อย

Note: ข้อมูลที่ได้มาจากการเล่าให้ฟังของคนที่สิงคโปร์ อาจจะมีความถูกต้องที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง ไม่แนะนำให้ใช้ในการอ้างอิง

“เด็กไทยต้องแข่งขันกันแค่ไหนเพื่อสอบเข้าคณะครู ? อาชีพครูเป็นอาชีพที่เด็กไทยอยากเป็นมากน้อยแค่ไหนเทียบกับอาชีพอื่นๆ ? คนที่เก่งมากๆ ในไทยอยากมาเป็นครูมากแค่ไหน ?”

ครูที่สิงคโปร์เปิดฉากถามขึ้นมา เมื่อผมอยากให้เขาลองช่วยเล่าถึงระบบการศึกษาในสิงคโปร์ เพื่ออยากลองเทียบกับของเมืองไทย

ผมตอบไปแบบจริงจังไม่โลกสวย ว่าคณะครูอาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมมากนักในไทย เพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง รวมถึงรายได้ด้วย ซึ่งผมก็โดนตอกกลับมาด้วยคำถามที่เล่นเอาจุกที่ว่า

“แล้วถ้าคนเก่งๆ ไม่ได้สอบเข้ามาเป็นครู อาชีครูไม่ได้เป็นอาชีพที่รายได้ดีและคนอยากเข้ามาทำ คนที่จะมาสอนลูกของคุณและคนทั้งประเทศ จะเก่งได้อย่างไร ?”

จุกเลยเจอแบบนี้

รู้จักกับระบบการศึกษาที่สิงคโปร์

ก่อนจะไปดูว่าเขาทำได้อย่างไร มาดูก่อนดีกว่าว่าระบบของทื่นี่ดีงามแค่ไหน จนพ่อแม่หลายคนในไทยถึงกับส่งลูกมาเรียนต่อที่นี่กันเลยทีเดียว

  • สิงคโปร์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน แม้คนในชาติจะมีทั้งจีน, อินเดีย, มาเลเซีย และอีกมากมาย แต่ทุกคนต้องใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นภาษาหลัก
  • จากการจัดอันดับของ TIMSS  เด็กสิงคโปร์ได้รับคะแนนรวมความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นอันดับ 1 ของโลกในปี 1995, 1999 and 2003
  • งบประมาณของกระทรวงศึกษาสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาทต่อปี (ประชากร 5.5 ล้านคน) ในขณะที่เมืองไทยงบกระทรวงศึกษาอยู่ที่ 460,000 ล้านบาท (ประชากร 65 ล้านคน)
  • ถ้าหารเฉลี่ย งบการศึกษาที่สิงคโปร์จะเท่ากับ 54,000 บาทต่อคนต่อปี ส่วนของไทยจะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อคนต่อปี (เป็นค่าประมาณ โปรดอย่านำไปอ้างอิง)
  • ตามกฏหมายแล้ว พ่อแม่ที่มีบุตรจะมี “หน้าที่” ส่งลูกเข้าเรียน นั่นหมายความว่าถ้าพ่อแม่คนไหนไม่ส่งลูกเข้าเรียนหนังสือ ถือว่ามีความผิด
  • ถ้าบ้านไหนอยากจะสอนลูกที่บ้านเองในแบบ Home School ทางกระทรวงศึกษาจะส่งคนเข้ามาตรวจสอบคุณภาพของพ่อแม่และการเรียนการสอนว่าผ่านเกณฑ์หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ ลูกจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ
  • สิงคโปร์มีนโยบายว่าเด็กทุกคนจะต้องมีโอกาสในการศึกษาที่ “เท่าเทียมกัน” นั่นส่งผลให้ค่าเทอมในการเรียนแทบจะเป็นศูนย์ หรือเรียนฟรีนั่นเอง
  • จากการสอบถาม พ่อแม่ท่านหนึ่งบอกว่าต้องจ่ายให้โรงเรียนเพิ่มนิดหน่อย ประมาณเดือนละ 13 SGD (~ประมาณเดือนละ 300 บาท) ซึ่งก็ถือว่าถูกจนแทบจะเรียกได้ว่าเรียนฟรี
  • เด็กสิงคโปร์จะไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ ถ้ารัฐบาลไม่อนุมัติ เพราะไม่อยากให้เกิดการแบ่งแยก คนรวยไปเรียนนานาชาติ หรือไม่อยากให้รู้สึกว่านานาชาติดีกว่าโรงเรียนรัฐ
  • ระบบการแบ่งชั้นเรียนก็คล้ายๆ ไทย คือมีอนุบาล, Primary School 6 ปี (ประถม), Secondary School 5 ปี (มัธยม) และเข้ามหาลัย
ทำไมสิงคโปร์ถึงให้ความสำคัญกับการศึกษาของคนในชาติเป็นอันดับ 1
  • จากการพูดคุยกับครูที่เป็นทั้งคนสิงคโปร์ และสอนอยู่นานจนถึงวันเกษียรออกมาแล้ว เล่าเรื่องราวการศึกษาที่เปลี่ยนยุคมาได้น่าสนใจดี
  • สมัยก่อนสิงคโปร์เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ และก็มีปัญหาคนหลากเชื้อชาติในประเทศ ทั้งมาเลเซีย จีน และอินเดีย
  • จนต้องแบ่งแยกโรงเรียนออกตามเชื้อชาติและภาษา คือมีโรงเรียนของคนจีนโดยเฉพาะ โรงเรียนที่สอนสำหรับมาเลเซียโดยเฉพาะ
  • ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนตกงานเยอะ รัฐบาลก็เริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะประเทศเองก็เป็นแค่เกาะ ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรมาก สิ่งที่ดีสุดคือต้องส่งเสริมการศึกษา
  • นโยบายการศึกษาไม่ใช่แค่ให้คนมีงานทำ แต่ให้คนในชาติรวมกันได้ คือมีโรงเรียนที่ให้เด็กจีน อินเดีย มาเลเซีย เรียนร่วมกัน อยู่ร่วมกันเป็นชาติเดียวกัน
  • ยุค 80 สิงคโปร์ปรับระบบการศึกษาใหม่จากที่เน้นจำนวน มาเป็นเน้นคุณภาพ เอาระบบ Cambridge จากอังกฤษเข้ามาใช้
  • รัฐบาลย้ำอยู่เสมอว่าทุกคนต้องศึกษาให้สูง ไม่งั้นจะไม่มีอะไรกิน การศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์รอด

ครูคือส่วนสำคัญที่สุด
  • อาชีพ “ครู” เป็นอาชีพในฝันของเด็กสิงคโปร์หลายคน และมีคะแนนการสอบเข้าเป็นอันดับท็อปในระดับมหาลัย ไม่แพ้แพทย์, วิศวกร
  • นั่นเป็นเพราะครูที่สิงคโปร์รายได้ดีมาก เงินเดือนครูระดับประถมเริ่มที่ประมาณ 60,000 – 80,000 บาทต่อเดือน และยังมีสวัสดิการณ์อื่นๆ อีกเพียบ
  • ครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติสูง และได้รับการยอมรับในสังคมมาก งานดี รายได้ดี แก่ตัวมามีสวัสดิการณ์รองรับ รัฐบาลช่วยเต็มที่
  • แต่การจะเป็นครูที่สิงคโปร์ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องผ่านการสอบ การคัดเลือกที่โหดหินแล้ว ยังต้องมีการสอบวัดคุณภาพครูอยู่เป็นระยะๆ
  • เมื่อผมเล่าเรื่องเงินเดือนครูในไทยให้ครูสิงคโปร์ฟัง รวมถึงคะแนนสอบเข้ามหาลัยที่ไม่ได้อยู่ในระดับตัวเลือกแรกๆ ของเด็กไทยมากนัก ก็ได้คำตอบที่น่าเจ็บจี๊ดว่า
  • “ถ้าครูรายได้น้อย แล้วใครจะอยากมาเป็นครู คนเก่งๆ ไม่สอบมาเป็นครู แล้วคนที่สอนให้ลูกเราเรียนทุกวันเป็นใคร แล้วเด็กๆ จะเก่งขึ้นมาได้ยังไง ?”
  • ผมก็ตอบไปว่า ในไทยครูที่รายได้เยอะก็มีนะ แต่มักจะอยู่ตามโรงเรียนสอนพิเศษ
  • “นั่นแปลว่า พ่อแม่เด็กจะต้องมีเงินส่งลูกเรียนพิเศษ ถึงจะได้เรียนกับครูดีๆ ใช่ไหม ? นั่นเลยเกิดความไม่เท่ากันของเด็กในประเทศรึเปล่า” 
  • โอยโดนเข้าอีกดอก
ภาษาอังกฤษมีส่วนสำคัญ
  • ผมสงสัยว่า ทำไมระบบการเรียนของที่นี่ถึงดีมากนัก โอเคล่ะ ได้คนเก่งๆ มาเป็นครูแล้ว ยังมีอะไรอีก ?
  • พ่อแม่ของเด็กท่านหนึ่งเล่าว่า เรื่องของภาษากับระบบตำราเรียนก็น่าจะมีผล
  • สิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศย่านอาเซียน ที่ใช้ภาษาอังกฤษเกือบจะทั้งหมดในการเรียนการสอน ตำราทั้งหมด การบ้าน การสอบ
  • ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาของโลกส่วนใหญ่อ้างอิงตำราจากฝรั่ง ทั้งอังกฤษ, อเมริกา ทำให้เด็กที่สิงคโปร์ได้รับการเรียนรู้ในเชิงตำรา เท่าเทียมกับเด็กอังกฤษ
  • นอกจากนี้ในยุคอินเทอร์เน็ต ความรู้เน็ตมีเยอะมาก และมักจะเป็นภาษาอังกฤษ เด็กสิงคโปร์เสิร์ชหาอะไรก็มีคำตอบ ไม่ต้องรอคนมาแปลเป็นภาษาบ้านเกิดอีกที
  • หลังจากที่เรียนจบระดับมัธยมแล้ว เด็กสิงคโปร์จำนวนมากเลือกไปเรียนต่อมหาลัยในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, อังกฤษ, อเมริกา ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในสิงคโปร์แล้วก็จ่ายเพิ่มไม่มากเท่าไหร่
  • แถมยังไม่ติดปัญหาเรื่องภาษาอีกด้วย เพราะเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกิด พอไปมหาลัยเมืองนอกก็เรียนต่อได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาปรับเรื่องภาษาอีก
มุมมืดด้านการศึกษา
  • ในข้อดีก็มีข้อเสียเหมือนกัน เมื่อถามถึงด้านไม่ดีของระบบที่นี่ล่ะ ?
  • ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เด็กๆ ก็มีความเครียดสูงไม่แพ้เด็กไทย
  • เพราะรัฐบาลเองก็มีการจัดสอบที่บ่อยครั้ง มีการจัดระดับเด็กในหลายๆ ด้าน ถ้าจะเรียนให้ดีก็ต้องสอบให้ผ่าน สอบให้ได้
  • เด็กที่สิงคโปร์ก็เรียนพิเศษเช่นเดียวกัน แต่โดยมากจะเป็นการเรียนเพื่อทบทวนบทเรียน และจะไม่เรียนกันจนดึกดื่นมืดค่ำ
  • อีกเรื่องคือเนื่องจากประเทศเน้นการเรียนในสายวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ ทำให้หลายคนบ่นว่าเด็กสิงคโปร์มักจะไร้ซึ่งจินตนาการสร้างสรรค์
  • จนทำให้ช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลก็ต้องปรับระบบการศึกษาที่เน้นเรื่องศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเพิ่มด้วย
  • เด็กสิงคโปร์จะถูกจับตรวจสายตากันแทบทุกปี เพราะกลัวว่าจะอ่านหนังสือไม่เห็น มองไม่ชัด ถ้าใครไปโรงเรียนเด็กประถมมัธยม ก็จะเจอเด็กที่ใส่แว่นทั้งชายและหญิงเต็มไปหมด
  • นอกจากนี้ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามทำลายกำแพงด้านเชื้อชาติ แต่คนสิงคโปร์ก็ยังมีการใช้ภาษาของตัวเองเช่น จีน, อินเดีย, มาเลเซียกันอยู่
พ่อแม่ไทยหลายคนเองก็ส่งลูกมาเรียนที่สิงคโปร์ ด้วยค่าเรียนที่เทียบแล้วก็ไม่ต่างจากเรียนนานาชาติในไทย รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ดี ห่างจากไทยไม่มากนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าที่นี่ก็ไม่ได้เรียนกันง่ายๆ และแข่งขันสูงไม่แพ้ที่ไหนในโลก
โดยสรุปแล้ว ถ้าถามว่าทำไมระบบการศึกษาของสิงคโปร์ถึงได้ดีระดับโลก ก็คงต้องตอบว่า มาจากการเอาจริงเอาจังของรัฐบาล, การให้ความสำคัญกับครูผู้สอน, ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการเป็นครูของคนในชาติ, ภาษาอังกฤษ และการใช้เวลาพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เปลี่ยนนโยบายการศึกษากันใหม่ทุกปีครับ
ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม – Wikipedia [1], ABC, MOE Singapore, Straitstimes
อ่านเพิ่ม