Social Enterprise vs CSR กิจกรรมเพื่อสังคมยุคใหม่ ที่ให้กำไรสู่สังคมมากกว่าเดิม

ช่วงนี้เราจะได้ยินประโยค Social Enterprise กันบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายคนก็คงเข้าใจแบบผมว่าก็เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมคล้ายกับ CSR นี่แหล่ะมั้ง แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าต่างกันอย่างไรอยู่ดี

เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสไปร่วมงาน “How can Corporate Directors Help Nurture Social Enterprises ?” จัดโดย IOD ซึ่งก็ได้มีการอธิบายพร้อมยกตัวอย่างเรื่อง Social Enterprise (SE) แบบละเอียดเลย แถมได้ข้อมูลว่าที่อังกฤษมีผู้เกี่ยวข้องกับ SE มากกว่า 2 ล้านคน !!


Social Enterprise คืออะไร ? ต่างกับ CSR อย่างไร

ดร. วันชัย ที่ปรึกษา “สิงห์ ปาร์ค” จังหวัดเชียงราย ให้ข้อสรุปที่มาที่ไปของ Social Enterprise เอาไว้ดีมาก เลยขอสรุปดังนี้

  • สมัยก่อนแต่ละบริษัทก็จะ CSR คือกิจกรรมเพื่อสังคม ทำกันเป็นระยะๆ ปีละครั้งสองครั้ง ทำแล้วเลิก
  • เช่น การไปปลูกป่า ไปทำบุญ ไปเลี้ยงเด็ก แม้จะเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสังคม แต่ด้วยความไม่ต่อเนื่อง สังคมก็ไม่ได้อะไรกลับมามากมายนัก
  • เลยเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ Social Enterprise นั่นคือการสร้างกิจกรรมที่ยั่งยืน และทำให้เกิดผลกำไร, อาชีพ และช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชนจริงๆ
  • หัวใจหลักของ Social Enterprise คือ 
    • 1. คนในชุมชน (People) 
    • 2. สิ่งแวดล้อม (Planet) 
    • 3. กำไร (Profit)
  • ตัวอย่างที่ชัดมากสำหรับการทำ Social Enterprise ในไทย คือโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ตามพระราชดำริของสมเด็จพระราชินี ชนนี ที่มีผลิตภัณฑ์ “ดอยตุง” หรือ “ร้านภูฟ้า” 
  • ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำสินค้าจากท้องถิ่นมาสู่สั่งคมแล้ว ยังสร้างรายได้ และมีผลกำไร เป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย
  • เมื่อกิจกรรมเพื่อสังคมสร้างกำไร สร้างรายได้ คนในชุมชนก็มีงานทำ ช่วยให้สังคมดีขึ้นมาได้
Marcus Winsley ผู้อำนวยการทบวงการค้าและการลงทุน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษ
  • Social Enterprise ในอังกฤษเป็นกิจกรรมที่แข็งแรงมาก มีผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 2 ล้านคน
  • ในยุค 90 ที่อังกฤษเน้นอุตสาหกรรม คนที่อยู่ในแต่ละชุมชนก็จะมาเป็นแรงงาน เพื่อให้เกิดรายได้ สิ่งที่ตามมาคือสภาพสังคมก็เลยเปลี่ยนไป กิจการบางอย่างในชุมชนก็ค่อยๆ หายไปด้วย
  • ต่อมายุค 2,000 นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ชื่อ David Cameron มีความเชื่อว่าในแต่ละชุมชนมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
  • ในแต่ชุมชนน่าจะสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาได้ และเป็นธุรกิจที่ดีต่อทั้งคนทำ ดีต่อสังคม และดีต่อผู้มาใช้บริการด้วย
  • ตัวอย่างง่ายๆ เช่นร้าน Tesco Lotus พยายามที่จะมีสินค้าพื้นเมืองในแต่ละท้องที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนกับสังคม คนซื้อก็สะดวก คนขายก็มีรายได้ Win-Win ทุกฝ่าย
  • กิจการที่ไม่มีกำไร ไม่มีทางที่จะยั่งยืนได้
มุมมองของคุณบดินทร์ อูนากูล รองประธาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้มุมมองว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่างก็ให้ความสำคัญกับ Social Enterprise
  • บริษัทใหญ่ๆ ใช้เงิน CSR ในแต่ละปีเยอะมาก แต่ก็ใช้แล้วจบไป
  • Social Enterprise จะเกิดได้ยากมากถ้าไม่มีเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ การที่ชุมชนจะไปขอทุนจากธนาคารก็ยาก เพราะกำไรน้อย มุมมองทางธุรกิจก็ไม่แข็งแรงมาก
  • การที่บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาช่วยเหลือในการทำ Social Enterprise ถือเป็นเรื่องที่ดีทั้งภาพลักษณ์ ได้ใจลูกค้า และยังมีโอกาสได้กำไรกลับมาที่บริษัทด้วยก็ได้
  • ในไทยตอนนี้เริ่มมีกิจการในลักษณะ Social Enterprise เพิ่มขึ้นมากและน่าสนับสนุน
สิงห์ ปาร์ค กับ Social Enterprise ที่ยั่งยืนในจังหวัดเชียงราย
  • อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของการทำ Social Enterprise ในไทย นั่นคือ “สิงก์ ปาร์ค” ที่จังหวัดเชียงราย
  • ดร. วันชัย เล่าให้ฟังว่า ที่จังหวัดเชียงราย แม้จะเป็นเมืองที่สวยงาม แต่กลับไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนรู้จัก ใครจะไปเชียงรายก็นึกไม่ออกว่าจะไปเที่ยวไหน ต่างจากเชียงใหม่ หรือเมืองอื่นๆ
  • พอดีกับที่ทางสิงห์เองก็มีที่ดินอยู่จำนวนหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เลยมองเห็นโอกาสว่าลองทำเป็น Social Enterprise สร้างแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีผลิตภัณฑ์จากชุมชนเข้ามาขาย
  • สิงห์ ปาร์ค มีพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เปิดให้เข้าชมครั้งแรกปี 2554
  • หลังเปิดดำเนินงาน ก็มีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก และมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ 
  • นอกจากที่ท่องเที่ยวแล้วยังมีสินค้าจากชุมชน เช่น วัตถุดิบใบชาจากไร่ของ สิงห์ ปาร์ค ถูกนำมาผลิตจำหน่ายในประเทศ และยังส่งออกให้ บริษัท มารุเซ็น ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อันดับต้นๆ ของประเทศญี่ปุ่น
  • สิงห์ ปาร์ค สามารถสร้างรายให้คนในท้องถิ่นกว่า 1,000 คน
  • เกิดแหล่งธุรกิจใหม่ และเกิดอาชีพในเชียงรายจำนวนมาก มีส่วนช่วยให้สังคมทั้งจังหวัดเชียงรายดีขึ้น
โดยสรุปแล้ว Social Enterprise คือการร่วมสร้างสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างธุรกิจ ที่มีส่วนช่วยสภาพแวดล้อม คนในสังคม คนซื้อก็ได้รับสินค้าบริการที่ดี คนขายก็มีรายได้ สุดท้ายจะช่วยสร้างสังคมให้ยั่งยืนได้นั่นเอง

ผู้ที่มาร่วมพูดคุยในงานคือ

  • คุณ Andrew Glass, Country Director ของ British Council Thailand
  • คุณ Marcus Winsley ผู้อำนวยการทบวงการค้าและการลงทุน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ
  • รศ. ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ปรึกษาด้าน Social Enterprise จังหวัดเชียงราย
  • คุณบดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารและดูแลสายงานปฏิบัติการ และรองประธาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
ข้อมูลเพิ่มเติม