แชร์ประสบการณ์เก็บเงินได้ครบ 1 ล้านบาทเมื่อตอนอายุ 31 ปี

เป้าหมายแรกหลังเรียนจบมหาลัยของผมคือ การเก็บเงินให้ได้ 1,000,000 บาทก่อนอายุ 30 ปี ซึ่งเคยเขียนในบล็อกไปก่อนหน้านี้ว่าผมทำไม่สำเร็จ .. วันเวลาผ่านไป 1 ปีต่อมา ตอนนี้ผมทำสำเร็จแล้วครับ ในวันที่อายุ 31 ปี 🙂

บล็อกตอนนี้จึงไม่ใช่การโม้ว่าเฮ้ยตรูมีเงินเก็บโว้ย แต่ต้องการจะแชร์ในฐานะเด็กที่เคยไม่มีเงินเก็บติดตัวเลยซักบาทตอนทำงานปีแรก และเริ่มต้นทำงานด้วยเงินเดือนแค่ 12,000 บาท จนมาถึงตอนนี้สามารถเก็บเงินให้ครบ 1 ล้านได้ยังไงครับ (จริงๆ เพื่อนผมหลายคนเก็บเงินได้เยอะกว่านี้มากเลยครับ)

บล็อกเก่า :
ประสบการณ์ทำงานปีแรกด้วยเงินเก็บ 0 บาท
ในวันที่ผมยื่นใบลาออกจากบริษัท Thomson Reuters

ปัญหาสุดคลาสสิคกับการเก็บเงินไม่เคยได้

เท้าความกลับไปตอนทำงานปีแรก ถึงผมจะเงินเดือนแค่ 12,000 บาท แต่ก็พอจะมีเงินเก็บนิดหน่อย แต่อย่างว่าคนเราซักพักมันก็มีเรื่องต้องใช้เงิน เช่นคอมเสีย กลับบ้านต่างจังหวัด ซื้อโทรศัพท์ใหม่ ซึ่งเป็นรายจ่ายชิ้นใหญ่ สุดท้ายเงินที่เก็บก็เหลือศูนย์

ด้วยความที่รักสบายอ่ะ ทำงานเหนื่อยๆ มันก็อยากใช้ตังค์หาความสุข อยากดูหนัง อยากกินของอร่อยๆ อยากไปเที่ยวสนุกๆ บ้าง

ผมไม่ชอบเลยความรู้สึกของการมีเงินอยู่ก้อนนึงในบัญชี แล้วต้องคอยมาดูว่าเหลืออีกกี่วันนะจะสิ้นเดือน แล้วตกลงเดือนนี้เก็บได้กี่บาท ว๊าเหลือน้อยจัง เดือนหน้าต้องอดออมกว่านี้แล้วสินะ

การได้เงินเดือนมา แล้วก็พยายามใช้อย่างประหยัด จนเหลือสิ้นเดือนก็เก็บไว้ มันใช้ไม่ได้ผลครับ คือสำหรับผมนะ มันไม่เวิร์คจริงๆ เพราะซักวันมันก็จะหมดไปกับบางสิ่งบางอย่าง

แล้วทำยังไง ?

ย้อนกลับไปเมื่อตอนผมอายุได้ 8 ขวบ ตอนนั้นจำได้เลยว่าเป็นวันเด็ก ซึ่งพี่น้องผมแต่ละคนก็บอกวันเด็กแล้ว อยากได้นั่นอยากได้นี่ สุดท้ายป๊า (พ่อ) ก็บอกไม่รู้ว่าจะให้อะไรเป็นของขวัญ งั้นเอางี้ละกัน ให้เงินไปคนละ 500 บาท พาไปที่ห้างแล้วบอกว่า อยากซื้ออะไรก็ซื้อเลย แต่ต้องใช้ให้หมดนะ

ใช้ให้หมดนะ …

ผมจำได้ว่าวันนั้นเป็นหนึ่งในวันที่ผมช็อปปิ้งสนุกที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งเลย เหมือนเราได้ไปวิ่งอยู่ในทุ่งดอกไม้ ลั้นลา กำเงินไว้แน่น ไอ้นี่ก็สวยงาม ไอ้นั่นก็อยากซื้อ “จะใช้แมร่งให้หมดเลยโว้ยยยย” ผมคิดในใจ

และนั่นเลยเป็นวิธีการเก็บเงินของผม ที่เพิ่งมาคิดขึ้นได้ตอนอายุ 24 ปีแล้ว …

ใช้แมร่งให้หมด

เมื่อผมรู้แล้วว่าผมเหมาะเหลือเกินกับวิธีการเก็บตังค์ด้วยวิธีการ “ใช้แมร่งให้หมด” มันเลยต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการกับเงินนิดหน่อย

  • เงินเดือนที่ได้มา สมมุติว่า 30,000 บาท ผมจะหาทางทำยังไงก็ได้ ให้มันเก็บไปแบบที่ผมไม่มีทางเบิกออกมาได้เลย อย่างน้อย 30-40% ในที่นี้คือ 9,000-12,000 บาท
  • เงินอะไรบ้างที่เราเก็บแล้วไม่สามารถเอาออกมาใช้ได้ ? ต้องไม่ใช่ฝากในบัญชีธนาคารแน่นอน
  • อย่างแรกคือซื้อประกันชีวิต กว่าผมจะได้เงินนี้กลับมาก็ปาเข้าไปหลายปีต่อมาแล้ว (เดี๋ยวนี้มีประกันหลายตัวที่เป็นประเภทเก็บเงิน 7-10 ปี)
  • หักเงินเข้า Provident Fund อันนี้ก็เอาออกมาไม่ได้ จนกว่าจะลาออกเท่านั้น ซื้อเต็ม Max เลยครับ
  • หักเงินซื้อหุ้นบริษัท โชคดีที่บริษัทมีขายหุ้นบริษัทด้วย ในราคาพนักงาน ซึ่งเท่าไหร่ผมไม่สน แต่มันหักไปจากเงินเดือนตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นซื้อ Max เลยเช่นกัน
  • ซื้อกองทุน LTF อันนี้กว่าจะได้ใช้เงินก็อีก 5 ปีข้างหน้า หักไปเลยว่าปีนี้ซื้อเท่าไหร่ ก็ทยอยซื้อทุกเดือนได้
  • ยังมีเงินอีกหลายอย่างที่สามารถหักได้แบบ Auto ก่อนที่จะมาถึงบัญชีเงินฝากของคุณ ก่อนที่จะมาถึงบัตร ATM ของคุณ ก่อนที่จะกดเงินออกมาสู่มือของคุณ
ผมซื้อไอโฟน ด้วยการผ่อน 0% เสมอ ฮะๆ

  • สุดท้ายจากพนักงานเงินเดือน 30,000 บาท (ตัวเลขสมมุติ) ผมก็กลายเป็นพนักงานเงินเดือน 18,000 บาทแทน
  • ที่เหลือ “ใช้แมร่งให้หมด”
  • ผมใช้หมดจริงๆ นะ คือไม่เหลือเลยซักบาท ถ้าสิ้นเดือนมีเงินเหลือเยอะ ผมไม่เก็บด้วยนะ มีเงินเหลือก็ต้องใช้แมร่งให้หมดสิ ว่าแล้วเราก็เสพสุขให้มันเยอะๆ คือกรูมีเงินเหลืออ่ะ ใช้ไปเลยเต็มที่ ถ้าสิ้นเดือนเหลือน้อย ก็ประหยัดไป มีเงินแค่นี้
  • มันเป็นความสุขที่ประหลาดจริงๆ นะครับกับการที่เรามีเงินซักก้อนนึง แล้วมีคนตะโกนบอกว่า “ใช้ให้หมดนะโว้ยยยยย” โอ้แม่ นี่สิชีวิต ทำงานเหนื่อยมันก็ต้องซื้อความสุขกันบ้าง
  • วิธีนี้เราจะไม่มีสิทธิไปแตะเงินที่ถูกดูดไปตั้งแต่ต้นเดือนเลย
  • แล้วถ้ามีเรื่องต้องใช้เงินจริงๆ จะทำยังไง ? คือด้วยความที่เงินพวกนั้นมันเอาออกมาไม่ได้ ผมก็จะต้องดิ้นรนหาวิธีให้เงินที่เหลือพอจ่ายให้ได้ เช่น ซื้อของแบบผ่อน 0%, ใช้บัตรเครดิตแบบฉลาดๆ หน่อย, ยืมเมียบ้างเป็นบางครั้ง (แต่ทวงยิกนะฮะ)
  • ด้วยวิธีนี้ ผมเลยมีเงินก้อนหนึ่งที่ไม่สามารถใช้ได้เลย จนเวลาผ่านไปอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งเวลานั้นก็ได้มาถึงแล้ว
  • ในที่สุดตอนนี้ผมก็มีเงินสดในบัญชี 1 ล้านบาทตามที่เคยตั้งใจเอาไว้แล้วครับ 🙂
ออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่พนักงานบริษัทขั้นเทพที่มีเงินเดือนหลักแสน และก็ไม่ใช่นักลงทุนที่ทำให้เงินมันงอกเงยแบบที่หลายคนกำลังมุ่งมั่นกันอยู่ ผมแค่เก็บเงินแบบที่ไม่ไปแตะมัน และไม่มีทางแตะมันได้เลย ก็เท่านั้น
วิธีนี้อาจจะดูไม่ฉลาดเท่าไหร่ แต่มันใช้ได้ และต้องใช้เวลาด้วย
อีกประเด็นที่อยากบอกคือผมมีความสุขกับการ “ใช้แมร่งให้หมด” มากๆ เงินเดือนขึ้น ผมใช้เยอะขึ้น แต่ก็เก็บมากขึ้นด้วย ซึ่งมันก็มีความสุขดี และไม่ได้ขัดสนอะไร แค่เปลี่ยนความคิดว่า “เราเงินเดือน 30,000 บาท” มาเป็น “เราเงินเดือน 18,000 บาท
เงินที่เหลือจากการถูกหักไปแล้วนั้น ผมยังสามารถซื้อ iPhone, MacBook, จัดงานแต่งงาน, พาภรรยาไปฮันนีมูนมัลดีฟส์ได้ โดยที่ก็ยังมีเงินเก็บอยู่นะ คือเงินที่มีผมใช้แมร่งหมดจริงๆ 5555

หวังว่าวิธีการเก็บเงินแบบนี้อาจจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ 🙂

หมายเหตุ: ย้ำว่าบล็อกตอนนี้ไม่ได้ต้องการโอ้อวด เพราะหลายคนที่อายุเท่าผมเก็บเงินได้ 10 ล้านแล้วก็มี เพียงแต่ต้องการเขียนเพื่อปักหลักไมล์อันหนึ่ง ที่เคยสัญญากับตัวเองไว้ และแชร์ให้ได้อ่านกันครับ

เดือนไหนใช้หมดก่อนสิ้นเดือน เราก็จะ ….
กินมาม่าแมร่งให้หมด เลยคร๊าบบบ !!  ^___^”